บรรยากาศชีวิตชาวนา

        สายฝนแห่งท้องทุ่งที่ชโลมดินอันแห่งแล้งในหน้าเดือนพฤษภาคม ทำให้คนบ้านนอกอย่างผมรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างคำว่าชนบทกับสังคมเมือง ขอโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้สึกนี้ อาจจะมีบางคนที่ไม่เคยได้สัมผัสย่อมไม่รู้ว่ามันทำให้มีความรู้สึกที่เย็นชุ่มฉ่ำและสบายจิตใจเพียงไร




      ฟ้าครึ้มที่ไหลมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าเป็นเมฆฝน ดินที่แห้งแล้งในหน้าเดือนพฤษภาคมกลับเย็นฉ่ำขึ้นทันทีหลังจากที่เม็ดฝนร่วงลงสู่ท้องทุ่งนา หมู่ใบหญ้าที่แห้งเหลืองจะฟื้นกลับเขียวอีกครั้ง ไม่นานความเขียวขจีของท้องทุ่งนาก็จะกลับมา ...
 


      เมื่อมีน้ำในท้องนาวิถีชีวิตของชาวนาก็เริ่มดำเนินอีกครั้ง จากการไถปรับหน้าดินก็เข้าสู่การปักดำซึ่งเป็นช่วงที่ถือว่าลำบากที่สุดของการทำนา เพราะต้องตื่นนอนตั้งแต่เวลาตีสี่ครึ่ง เตรียมตัวกว่าจะลงถึงแปลงนาก็เป็นเวลาตีห้าซึ่งสว่างพอดี คนที่ทำหน้าที่ไถนาก็ไถ คนที่ทำหน้าที่ดำก็ดำ ทุกคนจะช่วยกัน พอถึงเวลาสองโมงเช้าก็จะรับประทานอาหารเช้ากัน ซึ่งอาหารก็จะเป็นอาหารที่พอหาได้ตามท้องนา บางวันเป็นปลาปิ้ง กบปิ้ง แกงกบ อ่อมหอย หรือจะดีหน่อยก็จะเป็นไก่ต้นข่า หรือลาบวัว แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารที่พอหาได้ตามท้องทุ่งนา




      หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จก็จะลงแปลงนาเพื่อดำนาช่วยกัน พอถึงเวลาเที่ยงวันก็จะรับประทานอาหารเที่ยง รับประทานอาหารเที่ยงเสร็จก็จะลงดำนาต่อจนถึงเวลาประมาณสี่โมงเย็นก็จะเลิกจากดำนามาช่วยกันถอนต้นกล้าจนถึงเวลาค่ำมืดจึงขี้นจากแปลงนาและอาบน้ำรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จบางครั้งผู้ชายก็จะออกจับกบจับปลาเพื่อเป็นอาหารในวันต่อไป
 



      ชีวิตของชาวนาในช่วงดำนาก็จะวนเวียนอยู่อย่างนี้จากเช้าจนเย็นหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเป็นอยู่อย่างนี้ บางครอบครัวใช้เวลาเป็นเดือนในการดำนา บางครอบครัวก็จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับว่ามีที่นามากน้อยและคนในครอบครัวมากน้อยเพียงไร..



      หลังจากที่ได้ปักดำมาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว ต้นข้าวที่ปักดำก็เริ่มเขียวแตกกอเต็มท้องนา จากที่ทนดำนามาแรมเดือนก็ได้เห็นผลในระดับหนึ่ง ต้นข้าวเขียวเต็มท้องนาทำให้ชาวนามีกำลังใจที่จะต่อสู้กับวิถีชีวิตของชาวนาต่อไป...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น